วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กำเนิดสิ่งมีชีวิต

โลกของเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?          




   
          นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโลกได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีมาแล้ว โดยเกิดจากกลุ่มแก๊สและฝุ่นผงในอวกาศที่มีการควบแน่นจนเป็นก้อน ผิวโลกในช่วงนั้นจะมีลักษณะเป็นของเหลวที่ร้อนจัดต่อมาเย็นตัวลงจนเกิดการแข็งตัว บรรยากาศของโลกในสมัยแรกยังไม่มีแก๊สออกซิเจน ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแก๊สเฉื่อย นอกจากนี้ผิวโลกยังไม่มีน้ำในสภาพของเหลวเลย จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของโลกยุคดึกดำบรรพ์นี้มีความแตกต่างจากโลกยุคปัจจุบันมาก อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 1,000 ล้านปีหลังจากกำเนิดโลก สิ่งมีชีวิตก็ถือกำเนิดขึ้นและเกิดวิวัฒนาการเรื่อยมา จนในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าความหลากหลายในธรรมชาติเกิดมากมายเพียงใด
สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร?
          ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างแน่นอนว่าจริงๆแล้วสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่นักวิทยาศาสตร์หลายท่านก็ตั้งสมมติฐานหรือทำการทดลองเพื่ออธิบายถึงกำเนิดของ
สิ่งมีชีวิต เช่น ในปี พ.ศ. 2467 เอ ไอ โอพาริน (A.I.Oparin) นักเคมีชาวรัสเซียมีแนวคิดว่าบรรยากาศของโลกสมัยแรกนั้นมีแก๊สไฮโดรเจนในปริมาณมาก และสามารถรวมตัวกับแก๊สอื่นๆในบรรยากาศ เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ จนเกิดเป็นสารประกอบต่างๆ เช่น มีเทนและแอมโมเนีย และเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น สารประกอบเหล่านี้สามารถรวมตัวกันเป็นสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลซับซ้อน เช่น โมเลกุลของกรดอะมิโน
กลีเซอรอล กรดไขมันและน้ำตาลเชิงเดี่ยว กระบวนการวิวัฒนาการทางเคมีนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและใช้เวลานานจนในที่สุดก็เกิดเป็นสิ่งมีชีวิตขึ้น

ในปี พ.ศ.2496 สแตนลีย์ มิลเลอร์ (Stanley Miller) ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก มิลเลอร์ต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากการรวมกันของโมเลกุลต่างๆในรูปแก็สซึ่งมาจากการระเบิดของภูเขาไฟในบรรยากาศที่ไร้ออกซิเจนและมีไฟฟ้าจากฟ้าผ่าเป็นแหล่งพลังงานที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา มิลเลอร์ทำการจำลองสภาพการทดลองให้คล้ายคลึงกับโลกเมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ โดยใส่แก๊สมีเทน แอมโมเนีย ไฮโดรเจนและไอน้ำ ลงในชุดทดลองที่มีขั้วไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประกายคล้ายฟ้าแลบและฟ้าผ่า หลังจากนั้นก็นำของเหลวที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ พบว่าเกิดสารประกอบอย่างง่ายของสิ่งมีชีวิต เช่น กรดอะมิโนหลายชนิด กรดอินทรีย์และยูเรียด้วย จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สารประกอบอินทรีย์สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมของโลกระยะเริ่มแรก นอกจากนี้สารประกอบยังสามารถรวมตัวกันเกิดเป็นโมเลกุลที่ซับซ้อนขึ้นได้ด้วย
          
มิลเลอร์กับชุดทดลองของเขา


ได้มีการเสนอแนวคิด 2 แนวทางเกี่ยวกับกำเนิดเซลล์เริ่มแรกคือ 
           1. เชื่อกันว่าเซลล์แรกเริ่มนั้นเกิดจากการที่โมเลกุลพื้นฐานของชีวิต เช่น กรดอะมิโนและน้ำตาลเชิงเดี่ยว เป็นต้น ถูกชะล้างลงมาอยู่ในมหาสมุทรและมีการรวมกลุ่มกันจนมีขนาดใหญ่ แล้วแตกตัวออกซึ่งถือเป็นการเพิ่มจำนวนให้ได้โมเลกุลจำนวนมากในความเข้มข้นสูง เมื่อระยะเวลาผ่านไปโมเลกุลเหล่านี้สามารถนำสารประกอบอื่นเข้าไปสะสมภายในและถูกจำกัดบริเวณด้วยด้วยโครงสร้างซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเยื่อหุ้มเซลล์
           2. เซลล์แรกเริ่มเกิดจากโมเลกุลที่มีความสามารถในการสร้างและเพิ่มจำนวนตัวเองได้ เมื่อระยะเวลาผ่านไป โมเลกุลเหล่านี้จึงค่อยๆวิวัฒนาการกระบวนการเมแทบอลิซึมและสร้างเยื่อหุ้มเซลล์จนเกิดเป็นเซลล์ขึ้นได้ในที่สุด เชื่อกันว่าโมเลกุลพวกโพลีนิวคลีโอไทด์ (กรดนิวคลีอิก) เช่น อาร์เอ็นเอ น่าจะเป็นโมเลกุลเริ่มแรกของการเกิดเซลล

โครงสร้างโมเลกุล RNA

 นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตพวกแรกๆนั้นน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายพวกโพรคาริโอต (prokaryote) โพรคาริโอตประกอบด้วย แบคทีเรียและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน สิ่งมีชีวิตแรกเริ่มนี้ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ต้องอาศัยอาหารจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และดำรงชีวิตโดยไม่ใช้ออกซิเจนเนื่องจากบรรยากาศของโลกในยุคนั้นยังไม่มีออกซิเจนหรือมีออกซิเจนน้อยมาก ต่อมาสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรียเริ่มมีวิวัฒนาการในการสร้างอาหารเองได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศมีมากขึ้น ทำให้สิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ถือกำเนิดจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตพวกยูคาริโอต (eukaryote) ในที่สุด

 
       จากการวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรมในเซลล์และออร์แกเนล ทำให้เราทราบว่า
จีโนมคลอโรพลาสต์ในพืชและจีโนมไมโทคอนเดรียที่พบในพืชและสัตว์นั้นมีความใกล้เคียงกับจีโนมของแบคทีเรียซึ่งเป็นพวกโพรคาริโอต  ทำให้สันนิษฐานได้ว่า
ไมโทคอนเดรียและคลอโรพลาสต์อาจเคยเป็นเซลล์โพรคาริโอตขนาดเล็กที่ถูกเซลล์
ยูคาริโอตกินเข้าไปแต่ไม่ย่อยและอยู่รวมในเซลล์ยูคาริโอตขนาดใหญ่ ความแตกต่างอยู่ที่
 ไมโทคอนเดรียนั้นมาจากเซลล์โพรคาริโอตที่สังเคราะห์ด้วยแสงไม่ได้ แต่คลอโรพลาสต์มาจากเซลล์โพรคาริโอตที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้




ยุคทางธรณีวิทยา
          เมื่อสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว ก็มีวิวัฒนาการจนมีความหลากหลายในธรรมชาติ เมื่อเวลาผ่านไปมีทั้งการถือกำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้นและการสูญพันธุ์ไปของสิ่งมีชีวิตเดิมเช่นกัน
          ในปัจจุบันนักธรณีวิทยาและนักบรรพชีวินวิทยาสามารถแบ่งยุคทางธรณีวิทยาออกเป็น 4 มหายุค ตามชนิดของซากดึกดำบรรพ์ที่พบได้ดังนี้
     1. มหายุคพรีแคมเบรียน (Precambrian Era) เป็นช่วงของ 4,600 – 543 ล้านปีก่อน โลกก่อกำเนิดขึ้น เมื่อโลกเริ่มเย็นตัวลง จึงเกิดสิ่งมีชีวิตพวกแบคทีเรีย และเริ่มมีออกซิเจนในบรรยากาศซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ด้วยแสงในพวกแบคทีเรียสีเขียวแกมน้ำเงิน มีการเกิดขึ้นของสัตว์หลายเซลล์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังในน้ำ เช่น ฟองน้ำ 

     2. มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic Era) เป็นช่วงของ 543 – 245 ล้านปีก่อน เริ่มมีสัตว์พวกที่ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งมีทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็ม เช่น ไตรโลไบต์ (trilobite) แอมโมไนต์ (ammonite) หอย ปลา รวมทั้งแมลง สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เริ่มพบสาหร่าย เห็ดรา พืชบกชั้นต่ำ เริ่มจากพืชไม่มีเนื้อเยื่อลำเลียง เฟิร์น ไปจนถึงพืชมีเนื้อเยื่อลำเลียง มหายุค
พาลีโอโซอิกสิ้นสุดลงเมื่อมีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ซึ่งอาจเกิดเนื่องจากการเกิดยุคน้ำแข็งฉับพลันหรือเกิดภูเขาไฟระเบิด ทำให้มีการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งในทะเลและบนพื้นดินจำนวนมาก

     3. มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) เป็นช่วงของ 245 – 65 ล้านปีก่อน ไดโนเสาร์ชนิดแรกเกิดขึ้นและกลายเป็นกลุ่มเด่น ในยุคนี้เริ่มมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพวกมีกระเป๋าหน้าท้องและรก รวมทั้งแมลงต่างๆ และเกิดการกระจายพันธุ์อย่างมากมายของพืช ในช่วงแรกของมหายุคมีโซโซอิกมีพืชเมล็ดเปลือยมาก ทั้งเฟิร์นและสน เกิดพืชดอกชนิดแรก เชื่อกันว่าภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่หรือการพุ่งชนของอุกกาบาต ทำให้มีการสูญพันธุ์จำนวนมากและมหายุคมีโซโซอิกสิ้นสุดลง

     4. มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era) เป็นช่วงของ 65 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เปิดทางให้เกิดการกระจายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนานาชนิดทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เช่น ม้า สุนัข และหมี พบลิงไม่มีหาง (ape) และในราว 5-1.8 ล้านปีก่อน พบบรรพบุรุษของมนุษย์ ส่วนบรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบันนั้นพบในช่วง 1.8 ล้านปี - 11,000 ปีก่อน ในมหายุคซีโนโซอิกนี้พืชดอกกลายเป็นพืชกลุ่มเด่น

          ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับโลกของเราที่เห็นเป็นทวีปต่างๆในปัจจุบันนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงผ่านระยะเวลาอันยาวนานเช่นกัน
          ในปี พ . ศ . 2458 อัลเฟรด เวกเกอเนอร์ นักธรณีวิทยาและนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันเสนอทฤษฎีทวีปเลื่อน (Continental Drift) เป็นครั้งแรก เขาเชื่อว่าแผ่นดินลอยอยู่บนของเหลวซึ่งหุ้มแกนโลกอยู่ การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ในทวีปที่อยู่ห่างไกลกันสนับสนุนทฤษฎีนี้ เวกเกอเนอร์เสนอว่าเมื่อ 200 ล้านปีที่แล้ว โลกมีทวีปเดียวขนาดใหญ่เรียกว่าพันเจีย (Pangaea-- แปลว่าทั้งโลก ) จนกระทั่งถึง
ยุคจูแรสซิกซึ่งอยู่ในมหายุคมีโซโซอิก (ยุคที่ไดโนเสาร์รุ่งเรือง) แผ่นดินจึงเริ่มแยกจากกันเป็น 2 ส่วนเรียกว่า กอนวานาแลนด์ (Gonwanaland) ทางซีกใต้ของโลก และลอเรเซีย (Laurasia) ทางซีกเหนือ โดยมีทะเลทีธิส (Tethys) คั่นกลาง เมื่อสิ้นสุดยุคครีเทเชียส (ในมหายุคมีโซโซอิก) แผ่นดินก็แตกออกเป็นทวีปต่างๆ และค่อยๆเคลื่อนตัวมายังตำแหน่งที่เราเห็นในปัจจุบัน

          เอ็ดวาร์ด ซูส (Eduard Suess) นักธรณีวิทยาชาวออสเตรีย เป็นผู้พบหลักฐานที่ทำให้เขาเชื่อว่าแผ่นดินของทวีปอเมริกา แอฟริกา อินเดีย ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติกา เคยเชื่อมต่อกัน เขาเป็นผู้ตั้งชื่อแผ่นดินนี้ว่ากอนวานาแลนด์ ตามชื่อเขตที่พบซากดึกดำบรรพ์ของพืชกลอสส็อปเทอริส ( Glossopteris ) เป็นครั้งแรก และต่อมาก็พบในทวีปอื่นๆด้วย นอกจากนั้นยังมีซากสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์มีโซซอรัส (Mesosaurus) ที่พบในอเมริกาใต้ และแอฟริกาใต้อีกด้วย

ภาพสันนิษฐานลักษณะทวีปเดียวของโลกในช่วงยุคจูแรสซิก ก่อนที่จะมีการเคลื่อนตัวของแต่ละทวีปออกจากกัน 




การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
          นับตั้งแต่โลกได้ถือกำเนิดขึ้นจนกระทั่งมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตขึ้นมามากมายนั้น ตลอดช่วงเวลาราวสี่พันล้านปีที่ผ่านมามีทั้งการเกิดของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่และการสูญพันธุ์ไป การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ยอมรับกันมากที่สุดมี 5 ครั้งด้วยกัน ซึ่งใช้หลักฐานซาก
ดึกดำบรรพ์ที่พบในช่วงเวลาต่างๆในการยืนยัน

ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคแคมเบรียนถึงยุคออร์โดวิเชียน (488 ล้านปีก่อน) ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลพวก brachiopod, conodont และ trilobite มากมาย สาเหตุการสูญพันธุ์ อาจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เกิดยุคน้ำแข็งฉับพลัน ทำให้ปริมาณน้ำและออกซิเจนในน้ำน้อยลงจึงส่งผลอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ
ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคออร์โดวิเชียนถึงยุคซิลูเรียน (447-444 ล้านปีก่อน) ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทั้งพืช สัตว์ในทะเลมากมาย สาเหตุการสูญพันธุ์อาจเนื่องจากการเกิดยุคน้ำแข็ง ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำทะเลลดลงส่งผลอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ นักวิทยาศาสตร์จัดว่าการสูญพันธุ์ในช่วงนี้ทำให้สูญเสียสิ่งมีชีวิตในน้ำครั้งใหญ่เป็นอันดับสอง
ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคดีโวเนียน (364 ล้านปีก่อน) เป็นการสูญพันธุ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่เกิดอย่างต่อเนื่องราว 20 ล้านปี ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำ สาเหตุการสูญพันธุ์อาจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่หนาวเย็นต่อเนื่องมาจากยุคออร์โดวิเชียน แต่บางแนวคิดยังคงถกเถียงกันว่าอาจเป็นเพราะการพุ่งชนของอุกกาบาตมายังโลก
ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคเพอร์เมียนถึงยุคไทรแอสซิก (251.4 ล้านปีก่อน) เป็นการ
สูญพันธุ์ครั้งที่รุนแรงที่สุด ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำถึง 96% และสิ่งมีชีวิตบนบก เช่น พืช แมลง สัตว์มีกระดูกสันหลังต่างๆ ถึง 70% ส่งผลให้รูปแบบของสิ่งมีชีวิตบนโลกเปลี่ยนไป จนเกิดสัตว์พวกไดโนเสาร์ขึ้นมากมายบนโลกในยุคต่อมา สาเหตุการ
สูญพันธุ์ยังคงเป็นที่ถกเถียง และเสนอสมมติฐานหลายแนวทาง เช่น การสูญพันธุ์อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก วัตถุนอกโลกพุ่งชนโลก ผลกระทบจาก
ซุปเปอร์โนวาหรือการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ
ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคครีเทเชียสถึงยุคเทอเทียรี (65.5 ล้านปีก่อน) เป็นการสูญพันธุ์ครั้งที่รุนแรงเป็นอันดับสองรองจากช่วงปลายยุคเพอร์เมียน ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลจำนวนมากและสิ่งมีชีวิตบนบกถึง 50% รวมทั้งไดโนเสาร์ซึ่งเป็นสัตว์กลุ่มเด่นในขณะนั้น ส่งผลให้ยุคต่อมาเกิดการวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเข้ามาแทน สาเหตุการสูญพันธุ์มีผู้เสนอสมมติฐานหลายแนวทาง เช่น การเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่จึงทำให้เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือการมีวัตถุนอกโลกพุ่งชนโลก ซึ่งในประเด็นหลังดูจะมีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ เพราะในปี พ.ศ.2523 มีการพบแร่
อิรีเดียมในชั้นหินยุคครีเตเชียส ซึ่งแร่ชนิดนี้ปกติไม่พบในโลก แต่จะพบมากในลูกอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อย และในปี พ.ศ.2534 มี การค้นพบหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์ใต้เมือง ชิกชูลุบ (Chicxulub) บริเวณอ่าวเม็กซิโก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 180 กิโลเมตร ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในราว  65 ล้านปีก่อน 

มีดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ทำให้เกิดคลื่นยักษ์และการฟุ้งกระจายของฝุ่นผงจากพื้นผิวโลกในวงกว้าง ฝุ่นเหล่านี้ขึ้นไปจับกันเป็นชั้นหนาในบรรยากาศชั้นสูงอยู่นานส่งผลให้อุณหภูมิของผิวโลกชั้นต่ำลดลงและไม่มีแสงแดดส่องมายังผิวโลกด้านล่างเป็นเวลานาน เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศครั้งใหญ่จนทำให้ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตส่วนหนึ่งในยุคนั้นสูญพันธุ์ไปในที่สุด



คลิกเพื่อดูภาพขยายใหญ่
สายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
          ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าในธรรมชาติมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตบางชนิดมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นในอดีตนักวิทยาศาสตร์จึงใช้ความคล้ายคลึงกันของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ อันได้แก่ลักษณะทางกายวิภาค ลักษณะทางสัณฐานวิทยาหรือสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบในสิ่งมีชีวิต เป็นต้น ในการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตและในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ลำดับเบสของสารพันธุกรรมหรือ  DNA มาสร้างเป็นภาพแสดงสายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในระดับที่เหนือกว่าอาณาจักร (kingdom) โดยสามารถแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็น 3 โดเมน (domain) ได้แก่ แบคทีเรีย (bacteria) อาร์เคีย (archaea) และยูคาเรีย (eukarya) โดยโดเมนแบคทีเรียนั้นประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตกลุ่มโพรคาริโอตที่เรารู้จักกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดเมนอาร์เคีย ประกอบด้วยกลุ่มสิ่งมีชีวิตพวกโพรคาริโอตที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วๆไป และโดเมนยูคาเรีย ประกอบด้วยกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ในเซลล์จะมีนิวเคลียสที่แท้จริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าโดเมนนี้จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก ดังแสดงรายละเอียดในภาพด้านบน